เข้าสู่ระบบ »

สาระน่ารู้


      ‘Hoarding Disorder’ โรคของคนชอบเก็บสะสมของ


  • ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

    คนเราโดยทั่วไปมักมีข้าวของไม่จำเป็นเก็บไว้ในบ้านกันเกือบทุกคน แต่หากคุณเก็บเสียทุกอย่าง ไม่ยอมทิ้งแม้แต่ของที่ใช้งานไม่ได้ จนรกเต็มบ้านและไม่มีที่นั่งที่นอนหรือที่กิน นักจิตวิทยาชี้ว่าคุณมีอาการนี้เข้าข่ายเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง และต้องการพฤติกรรมบำบัด แต่ถ้าเรียกแบบคนไทยสมัยก่อนอาจจะเรียกว่า เป็นโรคบ้าหอบฟาง
    ‘Hoarding Disorder’ โรคของคนชอบเก็บสะสมของ thaihealth

    แฟ้มภาพ

    หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้างว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่สะสมของไว้ในบ้านชนิดเยอะมาก แบบล้นเต็มห้องจนไม่รู้ว่าอยู่ไปได้ยังไง คนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่น่าจะไปเข้าข่ายกับการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า Hoarding Disorder หรือโรคเก็บสะสมของนั่นเอง

    Hoarding Disorder เป็นโรคที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปใหม่ในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM V) เมื่อปี 2556 นี้เอง โดยก่อนหน้านี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้มาก่อน เดิมทีเชื่อว่าเป็นอาการแบบหนึ่งในโรคกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเหตุว่าเป็นโรคใหม่ในภาษาไทยจึงไม่มีศัพท์ที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ แต่เรียกให้เข้าใจไปก่อนว่า โรคเก็บสะสมของ

    มีงานวิจัยจากภาควิชาการแพทย์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปคิ้นส์ กล่าวว่า มีการศึกษาพบว่าอาการชอบสะสมข้าวของเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและเกิดขึ้นในทุกประเทศและในทุกวัฒนธรรม

    โรคจิตชนิดใหม่

    นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคที่เพิ่งถูกชี้ชัดมา 3-4 ปีนี้เอง อาการเจอได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสูงวัย คนที่เกิดภาวะชอบสะสมของมากมายเกินความจำเป็น เก็บทุกอย่างไม่เฉพาะเจาจง แม้กระทั่งของที่ไม่จำเป็น ของไม่มีค่า เก็บไว้อย่างไม่มีจุดหมายขอให้ได้เก็บและเกือบจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร จนของรกบ้านเต็มไปหมดจนแทบไม่มีที่เดิน ซึ่งจะต่างจากนักสะสมทั่วไปที่สะสมของเพียงแค่ 1-2 ชนิด และเป็นของที่มีคุณค่าทางใจหรือของหายาก เก็บอย่างเป็นระเบียบสวยงาม สะอาดตา

    ถ้าเข้าข่ายว่าป่วยก็คือเก็บจนรกบ้าน ไม่มีที่เดิน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เก็บหนังสือพิมพ์มัดๆ ไว้เป็นกองๆ นาน 5-6 ปี ไม่เอาออกไป จนมีแมลงสาบ มีหนูมากัดมาทำรัง มีฝุ่นผงสกปรกจนเหม็นอับ กองหนังสือหล่นมาใส่เวลาเดินผ่าน หรือเก็บของสดผักผลไม้เหี่ยวเฉาก็ไม่เอาออกไปทิ้ง จนเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ จนรบกวนคนที่อยู่ด้วย เช่น ผู้ที่เลี้ยงหมาแมวไว้ในห้องเดียวกับตนเองทีละ 30-40 ตัว กินนอนกันอยู่ในนั้นจนผิดสุขลักษณะ

    “และเมื่อมีคนบอกให้เก็บทิ้งไปบ้าง ก็จะทำใจตัดใจทิ้งไม่ได้ ไม่สบายใจอย่างมากที่จะเก็บของออกไป จะขอไปบริจาคก็ทำใจไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์ เครียด กังวล ที่ต้องเก็บของทิ้ง ยิ่งแก่ก็ของเยอะขึ้นทุกวัน สะสมมากไปเรื่อยๆ เข้าข่ายว่าควรจะได้รับการรักษา”

    สาเหตุของโรคเชื่อว่า มีการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่คิดว่าต้องสะสมของไว้และเขาจะไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วย ไม่ยอมไปปรึกษานักจิตวิทยา ไม่เคลียร์ของทิ้งแม้จะมีคนทักท้วงบ่อยๆ ก็ตามเพราะเขาเชื่อวันหนึ่งอาจจะมีราคาในอนาคต หรือวันข้างหน้าอาจจะต้องใช้ จะทิ้งก็เสียดาย ทั้งที่ของนั้นไม่มีค่าหรือราคาเลย เช่น กระดาษเก่า กล่องเก่าๆ เพราะของที่เก็บมีผลกับอารมณ์ของเขา

    เนื่องจากเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ จึงมีข้อมูลการศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า กรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนต่อการเกิดโรค เนื่องจาก 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติสายตรงที่มีอาการคล้ายๆ กัน การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางสมองพบว่า สมองบางส่วน (ส่วน Cingulated Cortex และ Occipital Lobe) ของผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจ

    คนที่มีปัญหาทางจิตเหล่านี้ มักมองว่า สิ่งของต่างๆ ที่เก็บไว้อาจจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า เกิดความผูกพันกับข้าวของเหล่านั้น และหากต้องทิ้งไปจะรู้สึกถึงความสูญเสีย ปัญหานี้อาจจะกระทบต่อสุขภาพ ความสามารถในการตัดสินใจในชีวิตและกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

    จิตแพทย์ กล่าวว่าคนที่มีปัญหาติดยึดกับสิ่งของมักเป็นคนอ่อนไหว เฉลียวฉลาด สร้างสรรค์ และใจดี บุคลิกทั้ง 4 อย่างนี้ เมื่อรวมเข้ากับปัญหาความเครียด โรคซึมเศร้า และอาการเรียกร้องความสนใจ จะทำให้กลายเป็นคนที่ตัดสินใจอะไรไม่ได้

    ตัดใจให้ลงเก็บของทิ้งปีละครั้ง

    โดยทั่วไปโรคสะสมของนี้มักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพียงแต่โดยส่วนใหญ่ตอนวัยรุ่นอาจจะไม่เป็นปัญหารุนแรงมากนัก เพราะของที่สะสมมักจะยังไม่มาก แต่จะเริ่มเป็นปัญหาหนักเมื่อวัยผู้ใหญ่ เพราะของที่สะสมมักจะเยอะมาก ส่วนใหญ่พบว่าโรคจะเป็นลักษณะเรื้อรัง ไม่หายขาด โดยอาการอาจจะเป็นมากขึ้นเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่มีความเครียดมักจะมีการสะสมของมากขึ้น

    โรคที่มักพบร่วมกับโรคสะสมของ ได้แก่ โรคย้ำคิดย้ำทำ พบว่าคนที่เป็นโรคนี้เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วยมากถึง 30% นอกจากนี้อาการสะสมของ อาจพบได้บ้างในผู้ป่วยโรคจิตเภท และโรคสมองเสื่อม

    โรคนี้การรักษาด้วยยาพบว่าได้ผลเพียงนิดหน่อย โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มยาต้านเศร้า การรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การสอนการตัดสินใจ ในการเก็บหรือทิ้งของ การจัดกลุ่มทำพฤติกรรมบำบัด และการสอนวิธีการเก็บของที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงฝึกให้ทนได้กับการทิ้งของสักปีละครั้ง พบว่าวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยลดของที่สะสมลงได้เกือบ 1 ใน 3 ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว ผู้ป่วยรู้ดีว่าพฤติกรรมที่ทำนั้นขาดเหตุผล แต่บังคับใจตัวเองไม่ได้

    บ้านรก โชคลาภหดหาย

    ซินแซออร์ เพาเวอร์ริช ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย กล่าวว่า  บ้านที่รกๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของบ้าน โดยเฉพาะหน้าบ้าน จะเป็นตัวผลักดันให้พลังงานที่ดีไม่เข้ามาสู่บ้าน เพราะบ้านมักมีพลังงานต่างๆ มากมาย แตกต่างกันไปในแต่ละจุดของบ้าน การที่บ้านรกจะเป็นการสะสมพลังงานที่ไม่ได้เอาไว้มากเกินไป และพลังใหม่ๆ ก็จะไม่เข้ามาต้องทำบ้านให้มีสภาพบวกโล่งๆ โปร่งๆ จะมีพลังชี่หมุนเวียนเข้ามา

    ถ้าพิจารณาในแง่วิทยาศาสตร์ หลักการง่ายๆ ก็คือบ้านรกรุงรังสกปรกมันก็ไม่สวยงามสบายตา แถมยังมีฝุ่นละออง มีแมลงสาบมีหนู ก็ทำให้เราหายใจเอาอากาศไม่สะอาดเป็นภูมิแพ้ บ้านที่มีแต่ฝุ่นก็ทำให้หน้ามันสกปรกมีสิวได้ง่าย ดังนั้นพยายามอย่าให้บ้านรกเคลียร์ของออกสักปีละครั้ง 2 ครั้งจะดีมาก

    ตามหลักฮวงจุ้ยถ้าบ้านโล่งสะอาด จะมีพลังงานหมุนเวียนเชิงบวกเข้ามา มีความโชคดี งานเดินเงินเข้า ทำบ้านให้หอมด้วยแจกันที่มีดอกไม้สดมีกลิ่นหอม หรือมีแจกันดอกไม้วางไว้ตามมุมของบ้านหลายๆ จุดจะช่วยกระตุ้นพลังงานเชิงบวกเข้ามาในบ้านขณะที่บ้านที่มีต้นไม้รกครึ้มปลูกบังหน้าบ้านก็ไม่ดี มีแค่ต้นไม้มีดอกหอมๆ ไว้สัก 1-2 ต้น เท่านั้นก็พอแล้ว

    “แต่ถ้าเป็นคนโสดควรปลูกดอกไม้หอม เช่น ต้นแก้ว ต้นโมก หรือวางแจกันดอกไม้สดไว้ที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านจะทำให้เจ้าของบ้านมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น”

    ที่มา www.thaihealth.or.th/Content/36039-‘Hoarding Disorder’ โรคของคนชอบเก็บสะสมของ.html






Magazine

Creative Thailand

 

More Special Reports

MAGAZINE

aday bulletin